ข้อมูลทั่วไปของแมวเปอร์เซีย
สำหรับใครที่กำลังอยากจะกระโจนเข้าสู่วงการทาสแมว เชื่อว่า “แมวเปอร์เซีย” ต้องเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวที่ผุดขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน เพราะด้วยขนยาวสุดน่ารัก ดวงตากลมโต บวกกับท่วงท่าที่สุขุม อ่อนหวาน และฉลาด ทำให้แมวเปอร์เซียเข้าไปอยู่ในใจใครหลายคนได้ในทันที บทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับแมวเปอร์เซียให้มากขึ้น ทั้งลักษณะ นิสัย โรคที่พบได้บ่อย วิธีการเลี้ยงดู และห้ามพลาดท้ายบทความ เพราะ Yora Thailand ได้รวมวาร์ปฟาร์มแมวเปอร์เซียพร้อมราคามาบอกต่ออีกด้วย
ภาพรวมน้องแมวเปอร์เซีย
น้ำหนักเฉลี่ย | 4-6 กิโลกรัม |
ส่วนสูงเฉลี่ย | 25-40 เซนติเมตร |
อายุขัยเฉลี่ย | 10-15 ปี |
ลักษณะขน | ขนยาว หนาฟู มีความมันวาว |
สีขน | สีขาว ครีม แดง น้ำเงิน ดำ ช็อกโกแลต |
นิสัย | รักสงบ ชอบอยู่เงียบ ๆ แต่อ่อนโยนกับคนใกล้ชิด |
โรคที่ต้องระวัง |
|
ประวัติของแมวเปอร์เซีย (Persian Cat)
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปีคริสต์ศักราช 1600 ได้มีการนำแมวเปอร์เซียจากแถบตะวันออกกลางเข้าไปยังทวีปยุโรปเป็นครั้งแรก แต่หลายแหล่งข้อมูลก็มีระบุว่า แมวเปอร์เซียมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่านี้หลายร้อยปี เนื่องจากมีการพบอักษรอียิปต์โบราณเป็นรูปแมวขนยาว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของเหล่าแมวเปอร์เซียนั่นเอง
ต่อมาในปี 1817 แมวเปอร์เซียได้เข้าประกวดในงาน Cat Show ที่จัดขึ้นในกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก และด้วยลักษณะอันโดดเด่นของแมวเปอร์เซีย ทำให้พระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษรู้สึกชอบและรับเลี้ยงหลายตัวด้วยกัน หลังจากนั้นการเลี้ยงแมวเปอร์เซียจึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมชั้นสูงของอังกฤษ ต่อมาในช่วงปีคริสต์ศักราช 1800 จนถึงช่วงต้นปีคริสต์ศักราช 1900 ได้มีการนำแมวเปอร์เซียเข้าไปยังอเมริกาและแพร่กระจายความน่ารักจนครองใจผู้คนอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับในอังกฤษ
ลักษณะนิสัยของแมวเปอร์เซีย
ลักษณะนิสัยของแมวเปอร์เซีย เป็นแมวที่ค่อนข้างรักสงบ ชอบอยู่ในความเงียบ และใช้เวลาพักผ่อนอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบบรรยากาศความวุ่นวายหรือเสียงดังรบกวน จึงเป็นแมวที่ไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หรือหากร้องก็จะใช้เสียงที่อ่อนนุ่มและไม่ดังจนเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นแมวที่ค่อนข้างอ่อนโยนและจะใกล้ชิดกับคนที่รู้สึกไว้ใจเท่านั้น
เหมาะสำหรับการเป็นสัตว์เลี้ยงให้กับผู้สูงวัยหรือผู้ใหญ่และเด็กโต ไม่แนะนำให้เลี้ยงร่วมกับเด็กเล็ก เนื่องจากเสียงร้องของเด็กอาจทำให้แมวเปอร์เซียแสดงอาการหงุดหงิดได้ รวมถึงก่อนการเลี้ยงร่วมกับสุนัขหรือสัตว์อื่น ควรดูให้มั่นใจก่อนว่าสัตว์เลี้ยงตัวอื่นค่อนข้างรักสงบเช่นเดียวกัน
มาตรฐานสายพันธุ์เเละลักษณะทางร่างกายที่ดีสำหรับแมวเปอร์เซีย
เมื่อเลือกซื้อแมวเปอร์เซีย สิ่งแรกที่หลายคนจะใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจรับเลี้ยงเลยก็คือ ลักษณะของใบหน้า สำหรับแมวพันธุ์เปอร์เซีย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ แมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา (Doll-faced) และแมวเปอร์เซียหน้าบี้ (Peke-faced)
แมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา (Doll-faced): เป็นลักษณะใบหน้าแบบดั้งเดิม โดยปากและจมูกจะยื่นออกมาจากโครงหน้าเล็กน้อย ดวงตากลมโต ขนยาวฟู หูเล็ก ปลายหูกลมมน จึงทำให้ดูเหมือนกับตุ๊กตานั่นเอง
แมวเปอร์เซียหน้าบี้ (Peke-faced): จะมีหน้าผาก จมูก และคางแบน เมื่อมองจากด้านบนจะอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งหมด ถูกพบเมื่อประมาณช่วงปีค.ศ. 1960 ที่ผ่านมานี้เอง ข้อควรระวังหากเลือกเลี้ยงแมวเปอร์หน้าบี้ คือเรื่องโรคหายใจผิดปกติเนื่องจากน้องแมวมีลักษณะจมูกที่สั้น
ลักษณะอื่น ๆ ของแมวเปอร์เซีย คือ แมวเปอร์เซียเป็นแมวขนาดกลาง น้ำหนักจะอยู่ที่ 3 - 5 กิโลกรัมสำหรับตัวเมีย ส่วนตัวผู้สามารถหนักได้ถึงประมาณ 6 กิโลกรัม ลำตัวสั้นแต่หนา คอสั้น ขาสั้นเตี้ย หางสั้น กระโหลกศีรษะกลม ใหญ่ ดวงตาหลากหลายสีแต่มักจะเป็นสีเดียวกับสีขน หูเล็กปลายมน มีขนเป็นลักษณะเด่นของสายพันธุ์ โดยขนของแมวเปอร์เซียจะยาว ฟู และนุ่มสวยงามทั้งตัวไปจนถึงหาง นอกจากนี้อายุโดยเฉลี่ยของน้องแมวพันธุ์เปอร์เซียจะอยู่ที่ 10 - 15 ปี
แมวเปอร์เซียลักษณะอื่น ๆ
นอกจากน้องแมวเปอร์เซียแบบหน้าตุ๊กตาและหน้าบี้แล้ว ยังมีแมวเปอร์เซียลักษณะอื่น ๆ อีก ดังนี้
เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthair): ก็คือแมวเปอร์เซียหน้าบี้แต่ขนสั้นนั่นเอง
หิมาลายัน (Himalayan): เป็นแมวเปอร์เซียที่โดดเด่นเรื่องสีขน ซึ่งจะมีสีเข้มเป็นจุด คือบริเวณใบหน้า ใบหู ปลายหาง และปลายเท้าทั้งสี มีทั้งแบบหน้าตุ๊กตาและหน้าบี้
ชินชิล่า (Chinchilla): เป็นอีกหนึ่งลักษณะของแมวเปอร์เซียที่สวยงาม โดยจะมีขนสีสว่าง และเด่นที่ดวงตาสีฟ้า รวมถึงขอบตาสีเข้มชัดเจน
แมวเปอร์เซียแท้ต้องดูอย่างไร
การจะสังเกตลักษณะของแมวพันธุ์เปอร์เซีย จำเป็นต้องดูหลาย ๆ องค์ประกอบรวมกัน ดังนี้
ดูที่ใบหน้า: ใบหน้าค่อนข้างกลมและมีแก้ม จมูกสั้นกว่าแมวสายพันธุ์อื่น ๆ ดวงตากลมโต
ดูที่ลักษณะขน: สำหรับแมวเปอร์เซียขนยาว ลักษณะขนจะต้องยาวสวย และนุ่มฟู
ดูที่รูปทรงหาง: ลักษณะหางของแมวเปอร์เซียมีความเป็นเอกลักษณ์คือ มีหางที่สั้น กลม ขนหางฟูนุ่ม
ดูจากรูปทรงและขนาด: น้ำหนักแมวเปอร์เซียเมื่อโตเต็มที่จะอยู่ที่ 5 - 6 กิโลกรัม คอและขาสั้น กระดูกใหญ่ แข็งแรง
ดูจากลักษณะนิสัย: ส่วนใหญ่แล้วแมวเปอร์เซียจะไม่ค่อยส่งเสียงร้อง หรือหากร้องก็จะร้องเสียงเบา ๆ นอกจากนี้ก็ยังเป็นแมวที่รักสงบ ค่อนข้างหวงพื้นที่ส่วนตัว และไม่ชอบความวุ่นวาย
โรคที่ต้องระวังในแมวเปอร์เซีย
สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงแมวเปอร์เซีย การศึกษาเรื่องโรคที่อาจเกิดขึ้นกับน้องเหมียวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้คอยสังเกตอาการและเลือกอาหารที่เหมาะสม ซึ่งโรคในแมวเปอร์เซียที่พบได้บ่อย มีดังนี้
ปัญหาเรื่องการหายใจผิดปกติ: โดยเฉพาะในแมวเปอร์เซียหน้าบี้ เนื่องจากมีลักษณะจมูกและทางเดินอากาศสั้น ทำให้หายใจผิดปกโดยเฉพาะเวลาเหนื่อย หรือทำให้หายใจมีเสียงดัง
โรคเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion): ลักษณะคือหนังตาจะม้วนเข้าไปด้านใน ให้คอยดูว่าน้องแมวมีการเกาตาบ่อย ๆ หรือไม่ สามารถรักษาได้การปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด
โรคเชอร์รีอาย (Cherry Eye): โรคตาที่มีลักษณะบวมแดงบริเวณด้านในมุมตาคล้ายลูกเชอร์รี ทำให้เกินการระคายเคืองดวงตา สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการผ่าตัดได้เช่นกัน
โรคถุงน้ำในไต (Polycystic Kidney Disease, PKD): เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวเปอร์เซีย ซึ่งแมวที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีถุงน้ำเกาะอยู่ที่ไต ส่งผลไตทำงานผิดปกติและสามารถเกิดภาวะไตวายได้ สัญญาณของโรคเช่น เบื่ออาหาร ดื่มน้ำและปัสสาวะบ่อย ง่วง ซึม ดูไม่มีแรง หากมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบสัตวแพทย์
โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวในแมว (Feline Hypertrophic Cardiomyopathy): เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยในแมวและเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ โดยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ฯลฯ ทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ นอกจากการรับประทานยาป้องกันแล้ว การลดความเครียดในน้องแมว ก็เป็นอีกวิธีในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ได้เช่นกัน
จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นอีกหนึ่งโรคในแมวเปอร์เซียที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นโรคที่สังเกตอาการได้ยากเนื่องจากการพัฒนาของโรคจะค่อย ๆ แย่ลง เบื้องต้นแมวจะเริ่มมองไม่เห็นในตอนกลางคืน และจะค่อย ๆ มองไม่เห็นในตอนกลางวันหรือที่แสงน้อย หากพบว่าน้องแมวเริ่มเดินชนสิ่งของ ให้ลองพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาโรคอย่างละเอียด
โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrhea): เป็นโรคทางผิวหนังที่เกิดได้กับแมวเปอร์เซีย โดยจะมี 2 แบบ คือ แบบผิวและขนแห้ง ทำให้ผิวหนังเป็นสะเก็ด และแบบผิวมัน ทำให้ผิวหนังและขนมัน ทั้งสองแบบทำให้เกิดอาการคัน สามารถรักษาได้ด้วยยาและแชมพูอาบน้ำสูตรเฉพาะ
อาหารที่เหมาะสมสำหรับแมวเปอร์เซีย
ไม่เฉพาะแมวเปอร์เซียแต่แมวทุกสายพันธุ์จะกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ฯลฯ และควรเสริมด้วยวิตามินต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยอาหารสำหรับแมวแต่ละช่วงวัยที่ควรให้มีดังนี้
- อาหารลูกแมวเปอร์เซียอายุ 1 เดือนขึ้นไป
สำหรับลูกแมวเปอร์เซียในวัย 1 เดือน ยังเป็นช่วงที่ควรให้กินนมไปก่อน หลังจากนั้นค่อยเริ่มปรับให้กินอาหารเม็ดมากขึ้น ในช่วงแรก ๆ ลูกแมวจะยังไม่สามารถกินอาหารเม็ดได้ทันที ให้นำอาหารเม็ดสูตรลูกแมวผสมกับนมแล้วป้อน เมื่อเริ่มกินได้แล้วให้ลดปริมาณนมและเพิ่มปริมาณอาหารเม็ดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนลูกแมวสามารถกินอาหารเม็ดได้ ซึ่งความถี่ในการให้อาหารลูกแมวเปอร์เซียจะห่างกันทุก ๆ 4 - 6 ชั่วโมงเพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรงสมวัย เมื่อโตเกิน 2 เดือนแล้ว ให้เปลี่ยนมาให้อาหารเม็ดอย่างเดียว ประมาณ 3 - 4 ครั้งต่อวัน
- อาหารแมวเปอร์เซียอายุ 10 เดือนขึ้นไป
เป็นช่วงเวลาที่สามารถเริ่มเปลี่ยนให้กินอาหารสูตรแมวโตได้ และควรให้อาหารเพียง 2 ครั้งต่อวันก็เพียงพอแล้ว สามารถสลับมาเป็นอาหารเปียกได้ตามความเหมาะสม เนื่องจากอาหารเปียกมีส่วนประกอบของน้ำ ทำให้น้องแมวเปอร์เซียได้รับน้ำอย่างเพียงพอด้วย
- อาหารแมวเปอร์เซียแก่หรืออายุ 7 ปีขึ้นไป
เมื่อแมวเปอร์เซียมีอายุมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในแต่ละวันก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้ร่างกายต้องการปริมาณอาหารน้อยลง ควรเลือกให้อาหารเป็นสูตรแมวสูงอายุโดยเฉพาะ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง แต่คาร์บโบไฮเดรตและไขมันต่ำ ส่วนแมวที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนเลือกอาหารให้น้องแมว
- อาหารป้องกันปัญหาก้อนขนในระบบทางเดินอาหาร
แมวทุกสายพันธุ์มักจะมีปัญหาเรื่องก้อนขนในระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากพฤติกรรมการเลียขนทำความสะอาดให้ตัวเอง และบางครั้งก็ทำให้สะอาดให้กับแมวตัวอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะแมวเปอร์เซียซึ่งมีขนเยอะและยาว ทำให้ต้องควรระมัดระวังเรื่องก้อนขนในท้องเป็นพิเศษ เจ้าของควรให้กินอาหารสูตรป้องกันก้อนขนสลับกับสูตรปกติเป็นครั้งคราว
นอกจากเรื่องของอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การเลี้ยงแมวเปอร์เซียยังจำเป็นต้องดูแลเรื่องของน้ำดื่ม โดยจะต้องเติมน้ำสะอาดไว้ตลอดเวลา เพื่อให้แมวได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เนื่องจากแมวมักจะดื่มน้ำน้อยและเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตได้ในอนาคต
วิธีการดูแลแมวเปอร์เซียตั้งแต่เป็นลูกแมวจนถึงโตเต็มวัย
การดูแลลูกแมวเปอร์เซียช่วง อายุ 1-3 เดือน
ลูกแมวเปอร์เซียอายุ 1 เดือนสามารถเริ่มใช้กะบะทรายแมวได้แล้ว สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องความสะอาด หลังจากที่ลูกแมวเข้าห้องน้ำแล้วควรเช็ดทำความสะอาดให้เรียบร้อย และคอยระวังไม่ให้ลูกแมวเผลอกินทรายในกะบะเข้าไป เมื่ออายุครบ 3 เดือน ควรพาลูกแมวเปอร์เซียไปรับวัคซีนเข็มที่ 1 หรือสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนได้
การดูแลแมวเปอร์เซียโตเต็มวัย อายุ 1 ปีขึ้นไป
การดูแลขน: เนื่องจากแมวพันธุ์เปอร์เซียเป็นแมวขนยาว จำเป็นจะต้องหวีขนให้น้องแมวทุกวัน โดยเลือกใช้แปรงซี่ห่าง ๆ และดูแลเป็นพิเศษบริเวณขนหลังใบหู คาง ท้อง และด้านในขาทั้ง 4 ข้างเพื่อไม่ให้ขนผูกกันเป็นปม
การดูแลดวงตา: เนื่องจากแมวเปอร์เซียมีดวงตากลมโตกว่าแมวทั่วไป จึงทำให้มีน้ำตาไหลอยู่บ่อยครั้ง หากไม่เช็ดทำความสะอาดจะทำให้แห้งติดเป็นคราบฝังแน่น นานไปอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เจ้าของจึงต้องทำความสะอาดเช็ดรอบดวงตาอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยผลิตภัณฑ์เช็ดรอบดวงตาหรือน้ำอุ่น โดยเฉพาะแมวเปอร์เซียหน้าบี้ที่จะมีร่องน้ำตาลึกกว่าแมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา จึงควรใส่ใจเป็นพิเศษ
การทำความสะอาดหู: แมวเปอร์เซียเป็แมวที่มีหูขนาดเล็ก จึงอาจเกิดการติดเชื้อโดยไม่ทันสังเกตได้ ควรเช็กอย่างสม่ำเสมอและเช็ดทำความสะอาดหูเมื่อมีคราบสกปรก โดยใช้คอตตอนบัดส์ขนาดเล็กจุ่มน้ำยาเช็ดหูและเช็ดทำความสะอาด หากมีคราบสกปรกมากเกินไปหรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ควรไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจเกิดจากไรในหูหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ ได้
การตัดเล็บ: ควรหมั่นตัดเล็บน้องแมวเปอร์เซียทุก ๆ 2 - 3 สัปดาห์ โดยเล็บเท้าหน้าจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้าหลัง
การดูแลฟัน: เพื่อป้องกันหินปูนและคราบสกปรกต่าง ๆ ผู้ที่เลี้ยงแมวเปอร์เซียควรหมั่นแปรงฟันให้น้องแมวด้วยยาสีฟันแมวสูตรพิเศษ หรือเลือกให้ขนมที่สามารถช่วยขัดฟันได้
การอาบน้ำแมวเปอร์เซีย: ความถี่ในการอาบน้ำให้แมวเปอร์เซียขึ้นอยู่กับแมวแต่ละตัว ปกติจะอยู่ที่ 2 - 4 สัปดาห์ต่อครั้ง หรือให้สังเกตที่ความมันบริเวณเส้นขนของน้องแมว หรือขนแตกจับเป็นก้อน เป็นสัญญาณว่าถึงเวลาต้องอาบน้ำนั่นเอง
แมวเปอร์เซียสีต่าง ๆ พร้อมราคาแมวพันธุ์เปอร์เซีย
ราคาแมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตา อยู่ที่ 3,000 - 8,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียหน้าบี้ อยู่ที่ 10,000 บาทไปจนถึงหลักแสน
ราคาแมวเปอร์เซียสีขาว สีส้ม หรือสีพื้นฐานอื่น ๆ ราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียสีสวาท ราคาเริ่มต้นที่ 3,000 บาท
แมวเปอร์เซียตาสองสี ราคาเริ่มต้นจะสูงกว่าแมวตาสีเดียวเล็กน้อย เริ่มต้นที่ 5,000 บาท
ราคาแมวเปอร์เซียชินชิล่า อยู่ที่ 7,000 บาทขึ้นไป
ราคาแมวหิมาลายัน เริ่มต้นที่ 20,000 บาทขึ้นไป
จะเห็นได้ว่าราคาค่าสินสอดของน้องแมวเปอร์เซียมีช่วงราคาที่กว้างมาก ตั้งแต่ 3,000 บาทไปจนถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับความสวยงาม สีขน สีดวงตา และลักษณะพิเศษอื่น ๆ หากใครพร้อมเป็นผู้ปกครองของน้องแมวแล้ว ตามไปดูลิสต์ฟาร์มแมวที่ Yora เตรียมมาให้กันเลย ว่ามีที่ไหนบ้าง
5 อันดับฟาร์มแมวเปอร์เซียยอดนิยมในประเทศไทย
แมวเปอร์เซียถือเป็นแมวที่มีลักษณะโดดเด่นตั้งแต่ใบหน้าสุดน่ารัก ขนฟูนุ่ม และนิสัยที่ดูเรียบร้อยอ่อนหวาน ทำให้หลายคนอยากเป็นเจ้าของ แต่ก่อนตัดสินใจควรศึกษาเรื่องการดูแล โรค และอาหารที่เหมาะสมสำหรับน้องแมวพันธุ์เปอร์เซียด้วยเช่นกัน
Comentários