top of page
Search

น้องหมาเบื่ออาหารทำยังไงดี? เข้าใจสาเหตุและวิธีแก้ให้กลับมากินเก่ง!



สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัข ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงไปกว่าการที่น้องหมาแสนรักของเราไม่ยอมกินอาหารอีกแล้ว เจ้าของหลายคนต้องเคยเจอภาพน้องหมาที่เคยตะกละตะกลามกลับนั่งมองชามอาหารอย่างเบื่อหน่าย หรือแค่ดม ๆ แล้วเดินหนีไป ปัญหาหมาเบื่ออาหาร เป็นหนึ่งในความกังวลที่พบบ่อยของเจ้าของสุนัข ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งทางร่างกายและพฤติกรรม


วันนี้ Yora Thailand จะพาเจ้าของเจ้าตูบทั้งหลายเข้าใจถึงสาเหตุที่น้องหมาอาจเบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขที่ได้ผล เพื่อให้น้องหมาของคุณกลับมากินเก่งเหมือนเดิม เพราะการกินดีคือพื้นฐานสำคัญของสุขภาพที่ดีของสัตว์เลี้ยงตัวโปรด!



 

เมื่อไหร่ที่ควรกังวลเรื่องสุนัขเบื่ออาหาร น้องหมาไม่ยอมกินข้าว?


ก่อนจะเริ่มกังวล เราควรเข้าใจก่อนว่าสุนัขบางตัวอาจไม่ได้กินอาหารเป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอโดยธรรมชาติ บางตัวอาจข้ามมื้อไปบ้าง หรือกินน้อยลงในบางวัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติ แต่สัญญาณต่อไปนี้บ่งบอกว่าพ่อ ๆ แม่ๆ ควรเริ่มให้ความสนใจ


  • น้องหมาไม่ยอมกินอาหารติดต่อกันเกิน 24-48 ชั่วโมง

  • มีการลดลงของน้ำหนักตัวอย่างชัดเจน

  • น้องหมาแสดงอาการเหนื่อยล้า เอาแต่นอนซึม ไม่มีแรง

  • มีอาการทางระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย อาเจียน

  • เคยเป็นสุนัขที่กินเก่ง แต่เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างกะทันหัน


หากพบอาการเหล่านี้ คุณควรให้ความสำคัญกับปัญหาหมาเบื่ออาหารอย่างจริงจัง เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ได้ 



สาเหตุที่ทำให้น้องหมาเบื่ออาหาร


การที่จะแก้ปัญหาหมาเบื่ออาหารได้อย่างตรงจุด เราจำเป็นต้องเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงก่อน โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สุนัขเบื่ออาหารมีดังนี้


1. ปัญหาทางสุขภาพ


ปัญหาสุขภาพเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้น้องหมาเบื่ออาหาร เพราะเมื่อร่างกายไม่สบาย ความอยากอาหารมักจะเป็นสิ่งแรกที่หายไป ซึ่การที่น้องหมาไม่ยอมทานข้าวนั้น อาจมาจากปัญหาสุขภาพได้หลายแบบ เช่น 


  • ปัญหาในช่องปากและฟัน: ลองนึกภาพว่าถ้าคนเราเจ็บฟันหรือมีแผลในปาก การเคี้ยวอาหารก็คงทรมาน น้องหมาก็เช่นกัน ปัญหาเช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันหัก หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดระหว่างซี่ฟัน สามารถทำให้การกินกลายเป็นเรื่องที่เจ็บปวด สังเกตได้จากน้องหมาอาจจะเข้าหาอาหาร แต่พอกัดก็ทำท่าเจ็บ เคี้ยวแค่ข้างเดียว หรือทำอาหารร่วงจากปาก

  • การติดเชื้อและไข้: ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตต่าง ๆ มักทำให้เกิดไข้และลดความอยากอาหาร เช่นเดียวกับที่เราเองก็ไม่ค่อยหิวเวลาป่วย

  • โรคระบบทางเดินอาหาร: กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือโรคกรดไหลย้อน ทำให้การย่อยและการกินอาหารเป็นเรื่องไม่สบาย

  • โรคเรื้อรัง: โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็ง มักมีอาการเบื่ออาหารเป็นสัญญาณเตือนระยะแรกๆ

  • ความเจ็บปวดจากสาเหตุอื่น: ข้ออักเสบ หมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือการบาดเจ็บที่ไม่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก อาจทำให้น้องหมาไม่อยากลุกมากินอาหาร


ข้อสังเกต: หากน้องหมาดูสนใจอาหาร เดินมาดม แต่ไม่ยอมกิน หรือกินได้เพียงเล็กน้อยแล้วเดินจากไป อาจบ่งชี้ว่ามีความเจ็บปวดบางอย่าง ต่างจากการที่น้องหมาไม่แม้แต่จะเข้าใกล้ชามอาหารเลย ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความเครียดหรือการเลือกกินมากกว่า


2. ความเครียดและปัจจัยทางจิตใจ


สุนัขเป็นสัตว์ที่ละเอียดอ่อนต่ออารมณ์และการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่หลายคนคิด ความเครียดสามารถส่งผลต่อความอยากอาหารได้อย่างมาก


  • การเปลี่ยนแปลงในบ้าน: การย้ายบ้าน มีสมาชิกใหม่ (ทั้งคนหรือสัตว์เลี้ยง) หรือแม้แต่การเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน สามารถทำให้สุนัขบางตัวที่อ่อนไหว ไม่คุ้นชิ้น รู้สึกเครียดจนไม่อยากกินอาหาร

  • การขาดกิจกรรมทางกายและสมอง: เหมือนคนเราที่เบื่อจนไม่อยากกินข้าว สุนัขที่ไม่ได้รับการกระตุ้นทั้งทางร่างกายและสมองเพียงพอ อาจแสดงออกด้วยการเบื่ออาหาร

  • ความวิตกกังวลจากการแยกจาก: สุนัขหลายตัวมีความวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่คนเดียว หรือเมื่อเจ้าของเปลี่ยนตารางเวลาทำงาน กลับบ้านช้ากว่าปกติทำให้น้องเป็นหมาเหงา ซึ่งความกังวลนี้สามารถลดความอยากอาหารได้

  • ประสบการณ์ที่ไม่ดี: หากน้องหมาเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับอาหาร เช่น อาเจียนหลังกินอาหารชนิดหนึ่ง หรือถูกสัตว์อื่นแย่งอาหารขณะกำลังกิน อาจทำให้เกิดความกลัวหรือระแวงเวลากินอาหาร


ข้อสังเกต: สุนัขที่มีความเครียดจะแสดงอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เลียตัวเองมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เห่าหรือหอนมากกว่าปกติ หรือแสดงพฤติกรรมทำลายข้าวของเมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว


3. ปัจจัยเกี่ยวกับอาหาร 


บางครั้งปัญหาอาจไม่ได้มาจากตัวน้องหมา แต่มาจากตัวอาหารเอง


  • อาหารเสื่อมคุณภาพ: จมูกของสุนัขไวกว่าของเรามาก พวกเขาสามารถรับรู้ได้เมื่ออาหารเริ่มเสื่อมคุณภาพหรือมีกลิ่นหืนแม้เพียงเล็กน้อยที่เรายังไม่สังเกตเห็น ลองดมกลิ่นอาหารของน้องหมาดู หากมีกลิ่นหืน เหม็นหรือผิดปกติ ควรเปลี่ยนอาหารชุดใหม่ทันที

  • การเปลี่ยนอาหารกะทันหัน: ระบบย่อยอาหารของสุนัขต้องการเวลาในการปรับตัวเมื่อเปลี่ยนอาหาร การเปลี่ยนยี่ห้อหรือสูตรอาหารโดยไม่ค่อย ๆ ผสมเข้าด้วยกัน อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือไม่สบายท้องจนไม่อยากกิน

  • ความล้าจากอาหารชนิดเดิม ๆ: แม้สุนัขจะไม่ต้องการความหลากหลายในอาหารเท่ามนุษย์ แต่บางตัวอาจเบื่อหากได้กินอาหารแบบเดียวเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กที่มักเลือกกินมากกว่าพันธุ์ใหญ่

  • ภาชนะที่ใช้: จานอาหารพลาสติกที่มีรอยขีดข่วนอาจสะสมแบคทีเรียและกลิ่นที่ทำให้สุนัขไม่อยากกิน หรือจานที่ลึกเกินไปทำให้สุนัขรู้สึกไม่สบายขณะกิน (โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่มีจมูกสั้น)

  • ตำแหน่งการวางอาหาร: สุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องการรู้สึกปลอดภัยขณะกินอาหาร การวางชามในที่พลุกพล่าน ใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเสียงดัง หรือเส้นทางที่มีคนเดินผ่านไปมา อาจทำให้สุนัขไม่รู้สึกผ่อนคลายพอที่จะกินอาหาร


Fun Fact: สุนัขบางตัวชอบกินบนพื้นที่ยกสูงกว่าพื้น บางตัวชอบกินบนพื้น บางตัวชอบให้มีคนอยู่ด้วยขณะกิน และบางตัวชอบความเป็นส่วนตัว การสังเกตความชอบของน้องหมาจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับมื้ออาหารได้ 


4. พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจและการเลือกกิน


บางครั้ง น้องหมาอาจใช้การไม่กินอาหารเป็นเครื่องมือในการสื่อสารหรือเรียกร้องบางสิ่ง


  • การได้รับของว่างหรืออาหารมากเกินไป: หากน้องหมาได้รับขนมหรืออาหารคนบ่อยๆ ระหว่างวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นกว่าอาหารสุนัขปกติ พวกเขาอาจเลือกที่จะรอของอร่อยแทนที่จะกินอาหารหลัก เปรียบเหมือนเด็กที่กินขนมมากจนไม่หิวข้าว

  • การเสริมแรงพฤติกรรมโดยไม่ตั้งใจ: เมื่อน้องหมาไม่ยอมกินอาหาร เจ้าของหลายคนเป็นห่วงจนเผลอเสริมแรงพฤติกรรมนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น เปลี่ยนอาหารใหม่ เติมของพิเศษลงไป หรือให้ความสนใจพิเศษ ทำให้สุนัขเรียนรู้ว่า "การไม่กิน = ได้รับสิ่งที่ดีกว่า"

  • การเลือกกิน: สุนัขฉลาดพอที่จะเรียนรู้ว่าถ้าไม่ยอมกินอาหารธรรมดา อาจได้อาหารที่อร่อยกว่าในภายหลัง โดยเฉพาะหากเจ้าของเคยใจอ่อนและยอมเปลี่ยนอาหารให้เมื่อพวกเขาไม่ยอมกิน


ตัวอย่างที่พบบ่อย: คุณวางชามอาหารเม็ดให้น้องหมา แต่เขาแค่ดมแล้วเดินหนี คุณกังวลจนต้องเติมอาหารกระป๋อง โรยชีส หรือใส่เนื้อไก่ลงไป ทันใดนั้นน้องหมาก็กลับมากินอย่างเอร็ดอร่อย พฤติกรรมนี้จะวนเป็นวัฏจักรและทำให้น้องหมายิ่งเลือกกินมากขึ้นเรื่อยๆ


5. ปัจจัยตามวัยและพันธุกรรม


อายุและพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในพฤติกรรมการกินของสุนัข

  • ลูกสุนัข: ช่วงที่ฟันน้ำนมหลุดและฟันแท้ขึ้น (ประมาณ 3-6 เดือน) อาจทำให้มีความเจ็บปวดในช่องปาก ส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลงชั่วคราว

  • สุนัขสูงอายุ: เมื่ออายุมากขึ้น ประสาทสัมผัสกลิ่นและรสจะเสื่อมลง ทำให้อาหารไม่น่าดึงดูดเหมือนเดิม นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานของสุนัขสูงอายุยังลดลงทำให้กินน้อยลงโดยธรรมชาติ

  • พันธุกรรม: สุนัขบางพันธุ์มีแนวโน้มที่จะเป็นนักกินเลือกมากกว่าพันธุ์อื่นๆ เช่น พันธุ์เล็กอย่างชิวาวา, ยอร์คเชียร์ เทอร์เรียร์ หรือมอลทีส มักเลือกกินมากกว่าพันธุ์ใหญ่อย่างลาบราดอร์ หรือโกลเด้น รีทรีฟเวอร์


 


วิธีแก้ไขปัญหาน้องหมาเบื่ออาหาร


เมื่อเข้าใจสาเหตุที่อาจเป็นไปได้แล้ว มาดูวิธีการแก้ไขที่ช่วยให้น้องหมากลับมากินเก่งอีกครั้งกัน


1. ตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์


หากน้องหมาไม่ยอมกินอาหารติดต่อกันเกิน 24-48 ชั่วโมง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย สิ่งแรกที่ควรทำคือพาไปพบสัตวแพทย์


  • สัตวแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจช่องปาก และอาจแนะนำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เลือด อุจจาระ หรือเอกซเรย์

  • หากพบโรคหรือความผิดปกติ การรักษาต้นเหตุจะช่วยให้ความอยากอาหารกลับมา

  • บางครั้งสัตวแพทย์อาจแนะนำยากระตุ้นความอยากอาหารชั่วคราว หรืออาหารทางการแพทย์เฉพาะ


2. ปรับปรุงคุณภาพและการให้อาหาร


  • เปลี่ยนอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ผสมอาหารใหม่กับอาหารเดิมในอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยตลอด 7-10 วัน

  • เพิ่มความน่าสนใจ: อุ่นอาหารเม็ดหรืออาหารกระป๋องเล็กน้อยเพื่อเพิ่มกลิ่น หรือเติมน้ำซุปไก่, น้ำอุ่น หรือโยเกิร์ตไม่มีน้ำตาลลงไปเล็กน้อย

  • ทดลองเปลี่ยนประเภทอาหาร: หากกินอาหารเม็ดมาตลอด ลองผสมอาหารเปียกบ้าง หรือลองสลับระหว่างอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง

  • ทำความสะอาดภาชนะสม่ำเสมอ: ชามพลาสติกอาจเก็บกลิ่นที่สุนัขไม่ชอบ ควรล้างทำความสะอาดทุกวัน หรือเปลี่ยนเป็นชามสแตนเลสหรือเซรามิก


3. พิชิตความเครียดและความวิตกกังวล


  • สร้างกิจวัตรประจำวัน: ให้อาหารและพาเดินเล่นในเวลาเดียวกันทุกวัน

  • เพิ่มกิจกรรมทางกาย: พาเดินเล่น เล่นเกมโยนของ หรือกิจกรรมที่สุนัขชื่นชอบเพื่อลดความเครียด

  • สร้างพื้นที่ปลอดภัย: มีที่หลบมุมสงบให้สุนัขได้พักเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ

  • ใช้ผลิตภัณฑ์คลายความวิตกกังวล: ในกรณีที่จำเป็น เช่น ปลอกคอฟีโรโมน หรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตามคำแนะนำของสัตวแพทย์


4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้อาหาร


  • กำหนดเวลาอาหาร: วางอาหารไว้ให้เพียง 15-20 นาที หากไม่กินให้เก็บไป แล้วเสิร์ฟใหม่ในมื้อถัดไป (ยกเว้นในลูกสุนัขที่ต้องได้รับอาหารสม่ำเสมอ)

  • ลดของว่าง: งดขนม 3-4 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร

  • สร้างกิจกรรมก่อนมื้ออาหาร: พาวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อกระตุ้นความหิว


5. เทคนิคเฉพาะสำหรับกรณีพิเศษ


  • สำหรับลูกสุนัขขึ้นฟัน: ให้อาหารเปียกหรือแช่อาหารเม็ดให้นุ่ม

  • สำหรับสุนัขสูงอายุ: อาหารที่มีกลิ่นแรงขึ้น เนื้อสัมผัสที่เคี้ยวง่าย ใช้จานตื้นกว่าปกติ

  • สุนัขป่วย: แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อต่อวัน ให้ด้วยมือเพื่อกระตุ้นการกิน

  • สุนัขที่มีโรคเรื้อรัง: ปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องอาหารพิเศษสำหรับโรคนั้น ๆ



อาหารเสริมและสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร


นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเช็คปัญหาสุขภาพแล้ว อาหารเสริมและสมุนไพรบางชนิดสามารถช่วยกระตุ้นความอยากอาหารในสุนัขได้ (ควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้)


  • น้ำมันปลา: อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวหนัง ขน ข้อต่อ และระบบภูมิคุ้มกัน ขนาดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของสุนัข โดยทั่วไปประมาณ 1,000 mg ต่อ 10 กิโลกรัม แบ่งให้วันละ 1-2 ครั้ง

  • วิตามินบีรวม: วิตามินบีมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเผาผลาญพลังงานและการทำงานของระบบประสาท การขาดวิตามินบีสามารถส่งผลต่อความอยากอาหารได้โดยตรง โดยเฉพาะวิตามินบี 1 (ไทอามีน) และบี 12 (โคบาลามิน)

  • โปรไบโอติก: จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ลดปัญหาท้องอืด แก๊ส และอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารที่อาจเป็นสาเหตุของการเบื่ออาหาร

  • ขิง: ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และกระตุ้นการย่อยอาหาร ให้ในปริมาณน้อยมาก (1/8 ช้อนชาของผงขิงต่อน้ำหนักสุนัข 10 กิโลกรัม) ผสมในอาหาร

  • มะขามป้อม: สมุนไพรไทยที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย และเพิ่มความอยากอาหาร ใช้ในรูปแบบชาหรือสารสกัดในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัว

  • น้ำผึ้ง: ไม่เพียงแต่เพิ่มรสชาติให้กับอาหาร แต่ยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและเสริมพลังงาน ใช้ในปริมาณน้อยมาก (1/4 ช้อนชาต่อน้ำหนักสุนัข 5 กิโลกรัม) ผสมในอาหารหรือน้ำ


ข้อควรระวัง: อาหารเสริมและสมุนไพรควรใช้เป็นเพียงส่วนเสริมของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาหลัก และต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนให้ทุกครั้ง โดยเฉพาะกับสุนัขที่มีโรคประจำตัว กำลังตั้งท้อง หรือให้นมลูก และลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 6 เดือน


 

การที่น้องหมาเบื่ออาหารเป็นสัญญาณที่บอกเราได้ว่ามีบางอย่างไม่สมดุลในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกาย จิตใจ หรือสภาพแวดล้อม การเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขอย่างตรงจุดจะช่วยให้น้องหมากลับมากินอาหารได้อย่างปกติและมีความสุข

เพราะการกินดีคือรากฐานของสุขภาพที่ดี และสุขภาพที่ดีคือรากฐานของชีวิตที่มีความสุขของเพื่อนสี่ขาที่เรารัก! ยังไงเราก็ขอฝาก Yora อาหารสุนัขเกรด Holistic นำเข้าจากประเทศอังกฤษ ซึ่งทำมาจากโปรตีนแมลง ย่อยง่าย ให้โภชนาการสูง เหมาะกับน้องหมาทุกสายพันธุ์ ไว้ด้วยนะครับ




 
 
 

35 Komentar


bottom of page